ห้องเรียนกรรมฐาน
พุทธวิหาร ศูนย์กลางการศึกษาวิปัสสนาธุระ
วัดพระธรรมจักร จังหวัดนครนายก

พระครูภาวนาวิสุทธิคุณ วิ. แนะนำวิธีการนั่งสมาธิ

 

ในลำดับต่อไป เราจะเข้าสู่รายการปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปใช้ดับทุกข์ในชีวิตประจำวันของเรา ในการปฏิบัติธรรม เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ก็คือเป็นการศึกษาเรื่องวิธีการทำให้มรรค ๘ เกิด เป็นเบื้องต้น มรรค ๘ เกิด มันเป็น "บุพพาคมรรค"  การทำให้มรรค ๘ เกิด มันเป็นการทำให้ มัชฌิมา เกิด  

มัชฌิมา 
หมายถึง จิตที่เป็นกลาง ไม่มีทั้ง โลภะ โทสะ โมหะ อาศัยอยู่ เป็นจิตที่บริสุทธิ์

โลภะ
แล้วลักษณะของโลภะคืออะไร พอใจ ดีใจ ชอบใจ สุขใจ อยากได้ อยากเป็น อยากเห็น อยากรู้ อยากดู เป็นต้น

โทสะ
ไม่พอใจคืออะไร โกรธ โมโห โทสะ โกรธ โมโห หงุดหงิด รำคาญ อยากให้หาย อยากหนี อยากทำลาย 

โมหะ
แล้ว โมหะ เป็นไง โมหะ ก็พวก คิด นึก พิจารณา วิพากษ์ วิจารณ์ ลังเล สงสัย จอง คอย รอ ง่วงเหงา หาวนอน ขี้เกียจ ขี้คล้าน เป็นต้น

สรุปแล้วทั้งหมดนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า 
อโรโภ โหติ โลภะก็ต้องหายไป
อโทโส โหติ โทสะก็ต้องหายไป
อโมโห โหติ โมหะก็ต้องหายไป

จึงจะเป็น มัชฌิมา จึงจะเป็นกุศล เป็นผลจากความชาญฉลาด

ดังนั้น อยากจะให้ตัวเองมีความชาญฉลาด ในทัศนะของพระพุทธเจ้าก็คือ ต้องรู้จักทำให้ มรรค ๘ เกิด ทีนี้มันมีเวลาน้อย อาจารย์ก็จะไม่ได้อธิบายเยอะ จะให้ลงสู่สนามภาคปฏิบัติเลย ดังนั้น จึงขออาราธนาพระสงฆ์และขอเชิญชวน ญาตโยมทั้งหลาย นั่งคู้บัลลังก์พร้อมกัน

นั่งคู้บัลลังก์

นั่งคู้บัลลังก์ ก็คือ นั่งขัดสมาธิเอาเท้าข้างหนึ่งทับซ้อนเท้าอีกข้างหนึ่ง ใครถนัดขวา เอาขวาขึ้นก็ได้ ใครถนัดซ้ายเอาซ้ายขึ้นก็ได้ เพราะการนั่งคู้บัลลังก็นั้น เป็นการทำให้เกิด มัชฌิมา การนั่งที่เป็น มัชฌิมา ได้ถูกต้อง เอาไว้คราวหน้ามีเวลาจะอธิบายให้ฟัง ประติดประต่อไปทีละอย่าง ทีนี้พอนั่งคู้บัลลังก์แล้ว

  • ก็เอามือวางที่ตัก แล้วเอามือทับซ้อนกันไว้ อย่ากดมือนะเอาวางไว้เฉยๆ ไม่ใช่เอานิ้วโป้งกดกันนะ นิ้วโป้งถูกกันก็ได้ แต่วางไว้เฉยๆ มือซ้ายอย่ากดมือขวาวางไว้เฉยๆ แค่น้ำหนักของมันปกติ
  • แล้วก็เหยียดตัวให้ตรง เงยคางให้ขนานไหล่ ใช้เอวดัน ใช้เอวดันส่วนบนของตัวเราให้ตรงขึ้นไป เงยคางให้ขนานไหล่ อย่าก้มหน้าลงไป ก้มหน้าเดี๋ยวก็เผลอ พอก้มหน้าสักครู่ตัวก็จะหย่อน ตัวหย่อนมัชฌิมาไม่ได้
  • ทีนี้พอดันขึ้นไปปุ๊บเงยคางให้ขนานไหล่แล้วตรวจดูว่า เรามีการเกร็งไหม ที่เอวมันต้องเกร็งเพราะมันดันเขา แต่ว่าตามไหล่ ตามคอ ตามกล้ามเนื้อ เกร็งไหม ถ้าเกร็งแสดงว่า มันเป็นพิณข้างตึง ไม่ใช่มัชญิมา ก็ผ่อนการเกร็งเหล่านั้นซะ แต่ลำตัว กระดูก ไม่ให้หย่อนลงมานะ หลังต้องดันไว้อย่างนั้น ไม่ต้องแขม่วท้อง ปล่อยเขาตามปกติ
  • พอได้ที่เงยคางขนานไหล่แล้วก็ สติอยู่ที่บริเวณสะดือ ดูการเคลื่อนไหวของท้องตรงสะดือ พอเราดูเราจะเห็น ท้องบริเวณนั้นเคลื่อนเข้าเคลื่อนออกๆ ตามลมหายใจ ตอนนี้เรายังไม่ได้ภาวนาอะไรทั้งนั้น เราดูก็จะเห็นว่า มันตรงกับลมหายใจพอดี อันนี้เป็นลักษณะที่เป็นธรรมชาติของคนไม่ได้ทำกรรมฐานนะ
  • ที่นี้พอเวลาเราเห็นมันเคลื่อนออกไป เราก็พูดในใจตาม สติอยู่แค่นั้นนะ ไม่ต้องไปตั้งสติอะไรขึ้นมาอีก แค่เราเห็นการเคลื่อนไหว ของท้องก็มีสติแล้ว เหมือนตอนนี้ เสียงนกเขาดัง เราได้ยินสติก็อยู่นั้นแล้ว จิตก็อยู่นั้นแล้ว ไม่ต้องเติมสติอะไรขึ้นไปอีก สติที่เติมเป็นอัตตา เป็นการสร้างของเรา อันนั้นคือ ผิด ผิดธรรมชาติ ผิดความเป็นจริง ปฏิบัติไปนานๆ จะเพี้ยน

การบริกรรมภาวนา

  • เราแค่รู้ มันเคลื่อนไป แล้วเราก็พูดตามเฉยๆ พูดในใจ ไม่ต้องพูดออกเสียง เคลื่อนออกไปก็พอง พอนิ่งก็หนอ เคลื่อนเข้ามาก็ยุบ พอนิ่งก็หนอ พองหนอ ยุบหนอ พองหนอ ยุบหนอ ไม่ทันตอนพองไปต่อตอนยุบ ไม่ทันตอนยุบไปต่อตอนพอง อย่าดึง อย่าดัน อย่าพลัก อย่ากด อย่ายก
  • หายใจเข้ารู้ว่าพอง ก็พูดในใจว่า พองหนอ หายใจออกรู้ว่าพองก็พองหนอ ไม่หายใจรู้ว่าพองก็พองหนอ เราดูการเคลื่อนไหวของท้องตรงสะดือ เราไม่ได้ไปดูลมหายใจ ถ้าพองยุบปกติ เราก็พองหนอ ยุบหนอ พองหนอ ยุบหนอ มันไม่ทัน มันอะไรต่างๆ เราก็ปรับสติเราให้ทัน แต่อย่าไปบังคับพองยุบ อย่าดึง อย่าดัน อย่าพลัก อย่ากด อย่ายก พูดไปตามนั้น คืออาศัย การเคลื่อนของท้อง เป็นตัวกำหนดว่าเราจะพูดว่าอะไร พอเคลื่อนออกไปก็พอง พอนิ่งก็หนอ เคลื่อนเข้ามาก็ยุบ พอนิ่งก็หนอ พองหนอ ยุบหนอ พองหนอ ยุบหนอ
  • ถ้าพองยุบเบาลงๆๆ พอเริ่มเบาลง เราก็เปลี่ยนคำกำหนดไปเป็น รู้หนอๆๆ เพราะตอนนั้นมันเป็นสองอารมณ์  อารมณ์หนึ่ง ก็คือ เรารู้ว่า พอง ยุบ อีกอารมณ์หนึ่ง เรารู้ว่า เบา เมื่อเป็นสองอารมณ์ขึ้นไปอย่างนี้ ถ้าเราไปจับ พอง ยุบ เบานั้นก็จะขาดไป ถ้าเราไปจับเบา พองยุบก็จะขาดไป
  • ดังนั้นตรงนี้  อารียาจารย์ทั้งหลาย ท่านจึงสอนให้ใช้คำกำหนดหรือ คำบริกรรมตรงนี้ว่า รู้หนอๆๆๆ เขาจะเบาไปๆๆ จนนิ่งก็ไม่เป็นไร พอนิ่ง ก็นิ่งหนอๆๆๆๆ ไม่ให้หลังลงมา ไม่ให้หน้างุ้มลงมา หน้าต้องเงยขนานไหล่ พอรู้ว่ามันลงมาปั๊บ รู้หนอๆๆ สามทีก่อน แล้วก็เงยหนอ เหยียดหนอ ถ้าเป็นหลังเราก็เยียดหนอ ถ้าเป็นหน้าเราก็เงยหนอ เข้าที่ไหม แล้วก็ไปจับ พองหนอ ยุบหนอ ต่อ ไปถึงเจอพองก็พองหนอ ไปถึงเจอยุบก็ยุบหนอ ไปถึงเจอมันเบาๆ รู้หนอๆๆ ไปเจอมันนิ่ง ก็นิ่งหนอๆๆๆ ไม่ทันตอนพอง ไปต่อตอนยุบ ไม่ทันตอนยุบ ไปต่อตอนพอง อย่าไปบังคับเขา เขาสั้นเราก็พูดสั้นๆตาม เขายาวเราก็ยาวตาม ถ้ายาวมากเราก็ทอนเป็น พองหนอๆ หรือ ยุบหนอๆ สองทีสามทีก็ได้ ลักษณะก็เป็นอย่างนี้
  • ทีนี้ในขณะที่เรากำลังพองหนอ ยุบหนออยู่ เมื่อถึงตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น อย่างตอนนี้ได้ยินเสียงรถยนต์มา เราก็ได้ยินหนอ รู้หนอๆๆๆ จนกระทั่งเสียงหายไป แล้วกลับมาที่พองยุบ ถ้ากลับมาปุ๊บเจออะไร เจอกำลังชาอยู่ กำลังเมื่อยอยู่ กำลังร้อยอยู่ กำลังปวดอยู่ เป็นต้น
  • เจอกำลังชาอยู่ก็ช้าหนอๆ ชาแรงขึ้นก็ ชาแรงหนอๆ ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องรั้ง ไม่ต้องห่วงพองยุบ ชาแรงขึ้นก็ชาแรงหนอๆๆ ถ้าชาเบาลงก็ชาเบาหนอๆๆ ถ้าชาเสมอๆก็ชาหนอๆ ปวดก็เหมือนกัน ปวดก็ปวดหนอ ตรงๆอย่างนี้เลย คันก็คันหนอ ร้อนก็ร้อนหนอ เย็นก็เย็นหนอ เมื่อยก็เมื่อยหนอ ล้าก็ล้าหนอ ตรงๆ นั้นหละ แล้วเวลาเขาแรงขึ้นก็ภาวนาตามไป พอเขาเบาลงก็ภาวนาตามไป เรียกว่ากำหนดไปตามอาการ อย่างนี้กิเลสต่างๆ จะเข้าได้ยาก กลิ่นเข้ามาก็ได้กลิ่นหนอๆ รสเข้ามาก็รู้รสหนอๆ
  • เห็นภาพ เห็นสี เห็นแสง หรือเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ อะไรก็แล้วแต่ เราก็เห็นหนอๆๆๆ ถ้าหากว่าภาพมันเบาลงๆ ก็เห็นเบาหนอๆๆ เหมือนกัน ตามไปติดๆ อย่างนั้น ให้ติดๆ แล้วพอจิตมันเปลี่ยนเราก็เปลี่ยนไปอย่างนี้ กิเลสนิวรณ์ต่างๆ จะเข้าไม่ได้
  • ทีนี้ในขณะที่เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่ หรือปวด ชาหนอ เวทนา หรือเสียง หรือเห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้นบรรดากิเลสที่มันเล็ดลอดมา คือพระพุทธเจ้าบอกว่า คุตทวาโร ให้คุ้มครอง ประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูกาย ประตูใจ ที่นี้เราคุ้มครองไม่อยู่แล้ว ทำไง กำลังพองหนอ ยุบหนอ รู้สึกเสียงมา เราก็ไป ได้ยินหนอๆ ใจคิดถึงพองยุบ พอคิดถึงเข้ามาแสดงว่า การคุ้มครองประตูหู ไม่ดีแล้ว พลาดแล้ว รั่วแล้ว เราก็ต้องไปปิดเลย ไปปิด ถ้าสมมุติมัน พอใจจะไปหาพองยุบ เราก็พอใจหนอๆๆ ถ้าพอใจเสียงก็พอใจๆๆ พอพวกนี้เข้ามา สมาธิเสีย เมื่อเรากำหนดอย่างนี้ถูกต้อง ไม่เกร็ง ไม่เพ่ง ไม่บังคับ ไม่อยากให้มันหาย ไม่ใส่กำลังไปที่มัน เพียงแต่อาศัยรู้แล้วพูดตามไป มรรค ๘ เกิด
  • เมื่อ มรรค ๘ เกิด เราจะเห็นพอใจ ยุบลงๆๆ มรรคทั้ง ๘ องค์ จะเกิดพร้อมกันนะ แล้วเราก็จะเห็นเขาสามัคคีกันทำงาน เราจะเห็นพอใจซึ่งเป็นกิเลสเป็นกาม ยุบลงๆๆ อโลโภ โหติ โลภะก็จะหายไปๆ ยุบลงก็ไปเป็นกลาง พอเป็นกลางเราก็ไป พองหนอ ยุบหนอ หรือปวดหนอ ชาหนอ เมื่อยหนอ หรือได้ยินหนอ เห็นหนอ แล้วแต่อารมณ์ใดจะเกิด ณ ขณะนั้น เราก็จะกำหนด อย่างนี้
  • ถ้ากิเลสดับแล้ว เสียงไม่มี ปวดไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี เราก็กลับไปที่ พอง ยุบ ไปเจอพองก็พองหนอ ไปเจอยุบก็ยุบหนอเลย แล้วแต่จะเจออะไร ถ้าเจอมันเบาๆ ก็รู้หนอๆๆ ถ้าเจอมันนิ่งก็นิ่งหนอๆๆ ไม่ให้หยุดการทำงานของจิต ถ้าดีใจก็ดีใจหนอๆ กิเลสพวกนี้ในขณะที่เรากำหนดพองยุบ หรือกำหนดเวทนา หรืออารมณ์อื่นๆ ก็ตาม คิดเข้ามาก็ฟุ้งอีก ก็คิดหนอๆๆ คิดเป็นโมหะ ดีใจเป็นโลภะ ไม่พอใจ โกรธ โมโห ก็เป็นโทสะ อารมณ์เหล่านี้เข้ามาต้องดับเขาก่อน ก็ถือว่าประตู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหลายนี้เราคุ้มครองไม่อยู่แล้ว เราก็ต้องไปปิดประตูอกุศลเหล่านี้ซะ ประตูนิวรณ์เหล่านี้ปิดซะ พอปิดแล้วเขาดับแล้ว ทีนี้ประตูไหนเด่น ปวดเด่นก็ไปปวด เสียงกำลังเด่นก็ไปเสียง ถ้าไม่มีอะไรเลย กลับไปเจอพองก็พอง เจอยุบก็ยุบ ถ้าไปแล้วไม่เจออะไรเลยก็ นิ่งหนอๆๆ กำหนดไปตามนี้
  • อาจารย์ก็จะหยุดใช้เสียงให้ท่านได้ตั้งใจทำ ต่อสู้ด้วยตัวเอง อย่าลืมนะ อย่าให้ตัวหย่อนลงมา ตัวหย่อนลงมานั้นพิณสายหย่อน ตัวเกร็งก็กลายเป็นพิณสายตึง ต้องดันให้ตรงอยู่อย่างนั้นแต่คลายการเกร็ง ตรงนั้นจะเป็นพิณสายกลาง นั่งอย่างนี้มรรค ๘ ถึงจะมีกำลัง ตั้งใจนะ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-12-21

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง/อ่านเพิ่มเติม